เกี่ยวกับฉัน

รูปภาพของฉัน
เศษแก้วยังมีคม เศษคารมยังบาดจัย เศษเหล็กยังขายได้ เศษหัวจัยคัยจะเอา

วันจันทร์ที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2554


หลักการจัดการกับการบริการเป้าหมายส่วนบุคคล


       พบกันเป็นครั้งแรก ในวารสารออนไลน์ทันสมัยถูกใจวัยโจ๋ ฉบับนี้ อ่านกันมาถึงหน้าของภาควิชาการจัดการ จึงขอนำเสนอความรู้เล็กๆ เกี่ยวกับการจัดการที่เชื่อว่าสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ไม่น้อยเลย หากได้ลองเปิดตำราว่าด้วยเรื่องราวของการจัดการแทบทุกเล่ม เนื้อหาบทแรกๆ จะต้องมีการกล่าวถึง หน้าที่ของการจัดการ (The Functions of Management)
ซึ่งหมายถึงกิจกรรมการทำงาน ของผู้จัดการในการวางแผน (Planning) การจัดองค์การ (Organizing) การชักนำ (Leading) และ การควบคุม (Controlling) โดยหน้าที่ทั้งสี่ประการ มีคำจำกัดความอย่างย่อๆ ตามแบบฉบับของผู้เขียน ดังนี้
การวางแผน (Planning) คือการกำหนดเป้าหมายขององค์การ รวมถึงการวางกลยุทธ์ในการแข่งขัน เพื่อให้องค์การประสบความสำเร็จตามเป้าหมายที่ตั้งไว้

การจัดองค์การ (Organizing) คือการออกแบบโครงสร้าง การจัดหาคนที่เหมาะสมกับงาน โดยกำหนดว่างานใดใครทำ รายงานผลต่อใคร รวมไปถึงการสรรหาบุคลากร และการฝึกอบรม
การชักนำ (Leading) คือการจูงใจ การสั่งการ และการแก้ปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้น
การควบคุม (Controlling) คือการติดตามผล การตรวจสอบ เปรียบเทียบ และปรับปรุงเพื่อให้เกิดความแน่ใจว่างานนั้นได้บรรลุผลตามแผนการที่วางไว้
อ่านกันมาถึงตรงนี้ หลายท่านอาจเกิดอาการงง เล็กน้อย ว่าเรื่องไกลตัวออกอย่างนี้ น่าจะเหมาะสำหรับนักธุรกิจหรือนักวิชาการมากกว่า ไม่เกี่ยวอะไรกับคนรุ่นใหม่อย่างเราหรอก .. ช้าก่อนท่านพี่ .. เพราะจริงๆ แล้วเราสามารถนำเนื้อหาข้างต้น มาประยุกต์ใช้กับชีวิตประจำวัน ซึ่งจะช่วยส่งผลให้ชีวิตของผู้อ่านมีเส้นทางอนาคตที่สดใสสวยงามแน่นอน

ยกตัวอย่าง หากผู้อ่านกำลังอยู่ศึกษาอยู่ระดับ ม.ปลาย จะต้องเจอกับเรื่องที่น่าหวาดผวา แต่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ ก็คือการสอบเอ็นทรานซ์  หน้าที่ทางการจัดการสามารถเป็นตัวช่วยให้เรามีความพร้อมก่อนลงชิงชัยในสนามสอบได้โดยง่าย .. ลองดูกัน

สมมติให้องค์การตามหลักวิชาการเป็นตัวเรา ที่มีเป้าหมายเปลี่ยนจากกำไร มาเป็นการมีชื่อติดในมหาวิทยาลัยที่ต้องการ เราก็จะบริหารหรือจัดการเป้าหมายส่วนตัวของเราให้บรรลุผลที่เราตั้งไว้ ด้วยหลักการดังนี้
 
 การวางแผน (Planning) เกี่ยวข้องโดยตรงกับการตั้งเป้าหมาย ดังนั้นก็ต้องมาตั้งเป้าหมายกันก่อนเลยว่าจะเราอยากเรียนอะไร ทำไม ฯลฯ (ซึ่งเป็นเหตุผลส่วนบุคคล) ก่อนจะเลือกคณะ หรือมหาวิทยาลัยที่เราต้องการ เราก็ต้องทราบก่อนว่า สาขาวิชาที่เราต้องการนั้นมีข้อจำกัดอะไรบ้าง โดยศึกษาจากข้อมูลการคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษา เราก็จะทราบได้ว่าคณะที่เราต้องการนั้นต้องสอบวิชาอะไรบ้าง/ระบุคุณสมบัติเฉพาะของผู้สมัครหรือไม่อย่างไร เมื่อทราบวิชาที่จะสอบแล้ว ก็ทำให้เราทราบว่าเราต้องเตรียมตัวอ่านหนังสือวิชาใดบ้าง และต้องอ่านให้จบเมื่อไหร่ (แน่นอน ต้องเป็นวันก่อนลงชิงชัยในสนามสอบ)
การจัดองค์การ (Organizing) องค์การของเรา ก็คือตัวของเรา สิ่งที่จะต้องจัดการคือเรื่องการแบ่งเวลา ในการอ่านหนังสือเพื่อให้ได้ความรู้ในการไปสอบโดยต้องอ่านให้จบก่อนเวลาสอบ นั่นหมายความว่าเรามีข้อจำกัดด้านเวลา แบ่งวิชาที่จะอ่านให้เหมาะสม พร้อมกับจัดเวลาในการออกกำลังกาย/ การทำกิจกรรม และการพักผ่อน เพราะการหักโหมเกินไปใช่ว่าจะเกิดประโยชน์ นอกจากนี้เรายังอาจมีทีมที่ปรึกษา คืออาจารย์ที่ปรึกษา อาจารย์แนะแนว สถาบันกวดวิชา หรือรุ่นพี่ที่ประสบความสำเร็จ ติดต่อบุคคลเหล่านี้ไว้ในกรณีที่เราต้องการความช่วยเหลือ
การชักนำ (Leading) ในเมื่อเรากำลังเป็นนายตัวเอง ก็ต้องมีการให้รางวัลตัวเองกันบ้าง เช่น หากอ่านหนังสือจบ 1 วิชา อาจให้รางวัลตัวเองด้วยการไปกินไอศกรีม 1 ถ้วย หรือ อาจทำสัญญาพิเศษกับผู้ปกครองว่า หากอ่านจบ 3 วิชา จะเพิ่มค่าขนมพิเศษในเดือนให้
การควบคุม (Controlling) เพื่อดูความก้าวหน้าในการอ่านหนังสือและการเตรียมตัว อาจทำเป็นตารางสรุปความก้าวหน้า แล้วเมื่อถึงเวลาก็มาตรวจสอบดูว่า ทำได้ตามเป้าหมายหรือไม่ ถ้าได้ ก็แสดงว่าเดินมาทางที่ถูกต้องแล้ว หากไม่ได้ ก็แสดงว่ายังต้องแก้ไขกันต่อไป ก็อาจย้อนกลับกันไปที่ข้อหนึ่ง (การวางแผน) ใหม่ แล้วดำเนินตามขั้นตอนอีกครั้ง
นี่เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งของการประยุกต์ทฤษฎีในตำรามาใช้งานเชิงปฏิบัติในชีวิตประจำวัน หากใครนำไปใช้แล้วได้ผลอย่างไร หรือหากมีข้อเสนอแนะเพิ่มเติมอะไร สามารถบอกให้รู้กันได้ที่ pattarin.c@bu.ac.th แล้วเจอกันใหม่เดือนหน้าค่ะ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น